Hot Topic!

เปิด 15 คดี 'โกงคลองจั่น' สู่ 'ฟอกเงินธรรมกาย'

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 06,2017

- - สำนักข่าว คม ชัด ลึก วันที่ 6 มิถุนายน 2560 - -
          
ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย สำนักข่าวเนชั่น
          
การยักยอกฉ้อโกงใน "สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น" ในนามของนักบุญ "ศุภชัย ศรีศุภอักษร"ผู้ที่สร้างความเสียหายนับหมื่นล้านบาทให้แก่สมาชิกสหกรณ์หลายหมื่นคน ที่หลงเชื่อนำเงินออมก้อนสุดท้ายในวัยเกษียณมาฝากไว้ โดยเงินที่ถูกยักยอกถูกเปลี่ยนแปลงสภาพผ่านการฟอกเงินอย่างมโหฬาร เงินจำนวนดังกล่าวถูกผ่องถ่ายไปให้พระธัมมชโย วัดพระธรรมกาย และมูลนิธิในเครือ โดยธุรกรรมการเงิน ที่พิสดารพันลึก ยังลากพระธัมมชโย  นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง 2 ราย  ให้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฟอกเงิน
          
โดยปฐมบทของ "คดีคลองจั่น"  มีจุดเริ่มต้นมาจากการร้องทุกข์กล่าวโทษให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบการบริหารสหกรณ์ที่ส่อว่ามีการทุจริต ยักยอกทรัพย์ จนทำให้สหกรณ์ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินจ่ายปันผลให้สมาชิกและปิดไม่ให้มีการถอนเงิน ตั้งต้นการสอบสวนคดีแรก คือ
          
1.คดีพิเศษที่ 142/2556 นายพิษณุ ชีวสิทธิ์ กล่าวหานายศุภชัย ศรีศุภอักษร พร้อมเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ข้อหาร่วมกัน ลักทรัพย์นายจ้าง (สหกรณ์คลองจั่น) และปลอมเอกสาร เหตุเกิดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550-มีนาคม 2555 วงเงินเสียหาย 13,334,159,975 บาท ซึ่งคดีนี้ดีเอสไอใช้เวลาสอบสวนนานถึง 2 ปี จึงสรุปความเห็นสั่งฟ้อง ต่อมาอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 สั่งฟ้องนายศุภชัยกับพวกรวม 5 คน  เป็นจำเลย โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
          
2.คดีพิเศษที่ 63/2557 นายสมาน ครองเมือง กล่าวหานายศุภชัย พร้อม ทีมกรรมการบริหารสหกรณ์รวม 12  คน ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน  สืบเนื่องจากการตกแต่งบัญชีงบดุลให้ประชาชนสำคัญผิดว่าสหกรณ์มีผลประกอบการดี เพื่อให้หลงเชื่อนำเงินมาฝาก โดยมีวงเงินเสียหาย 27 ล้านบาท คดีนี้อัยการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว
          
3.คดีพิเศษที่ 64/2557 น.ส. สุดาภรณ์ กองธรรม ผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์คลองจั่น กล่าวหานายศุภชัยข้อหายักยอกทรัพย์ โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2556 นายศุภชัยได้ยักยอกทรัพย์และลักทรัพย์สหกรณ์ โดยเบียดบังทรัพย์ไปเป็นของตนเองโดยทุจริต ครั้งที่ 1 จำนวน 7.5 ล้านบาท ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม-9 ตุลาคม 2556 รวม 6 ครั้ง เป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท รวมวงเงินเสียหาย 27.6 ล้านบาท โดยคดีนี้ สน.ลาดพร้าว เป็นผู้รับแจ้งความ แล้วส่งสำนวนให้ดีเอสไอดำเนินการ ในชั้นพิจารณาคดีนายศุภชัยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาจำคุก 16 ปี และส่งตัวเข้าคุมขังในเรือนจำกลางบางขวาง
          
เมื่อคดีซึ่งเป็นความผิดหลักของนายศุภชัย ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดชัดเจน ก็ถึงคิวคดีฟอกเงิน ซึ่งแตก แขนงโยงใยไปยังผู้มีชื่อรับเช็คจากนาย ศุภชัย จำนวน 878 ฉบับ โดยไม่มีมูลหนี้ต่อกัน เริ่มจากอดีตพระลูกวัดธรรมกาย พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ทนายวัดพระธรรมกาย เครือข่ายพระลูกวัด และลุกลามไปถึงบรรดาศิษย์เอกอย่าง อนันต์ อัศวโภคิน  และอลิสา อัศวโภคิน
          
4.คดีพิเศษที่ 68/2558 พ.ต.ท. สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ อดีตรองอธิบดีดีเอสไอ ฟ้องนายศุภชัย บริษัทเอสดับบลิวโฮลดิ้ง กรุ๊ป จำกัด และนายสถาพร วัฒนาศิรินุกูล อดีตพระลูกวัดพระธรรมกาย กับพวก
          
รวม 8 คน โดยนายศุภชัยได้โอนเงิน ที่ยักยอกมาจากสหกรณ์คลองจั่นฯ แล้วสั่งจ่ายเช็คให้นายสถาพร จากนั้นนายสถาพรนำเงินไปก่อตั้งบริษัทเอสดับบลิวโฮลดิ้ง ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากวัดพระธรรมกาย และยังนำเงินจากการยักยอกไปซื้อที่ดิน รถยนต์ ปืน และทรัพย์สินอื่นๆ ในชั้นสอบสวนยังพบว่านายศุภชัยได้มอบเงินให้นายสถาพรตั้งแต่ครั้งที่บวชเป็นพระ
          
และให้ต่อเนื่องหลังสึกออกมาเป็นฆราวาส รวมวงเงินเสียหาย 595.5 ล้านบาท
คดีนี้สรุปสำนวนสั่งฟ้องส่งอัยการแล้ว
          
5.คดีพิเศษที่ 70/2558 ดีเอสไอฟ้องนายศุภชัย บริษัทเอสดับบลิวโฮลดิ้ง นายสถาพร กับพวกรวม 5 คน ข้อหาฟอกเงิน ภายหลังมีพยานหลักฐานว่านายศุภชัยนำเงินจากการยักยอกสหกรณ์ไปซื้อทรัพย์สินเป็นที่ดินหลายแปลง และได้ถือกรรมสิทธิ์เรื่อยมา จนกระทั่งถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในปี 2556 จึงขายที่ดิน 8 แปลง ให้แก่ น.ส.อลิสา อัศวโภคิน และขายที่ดินอีก 1 แปลง ให้แก่ นางวรรณา จิรกิตติ วงเงินความเสียหายกว่า 330 ล้านบาท โดยคดีนี้ดีเอสไอมีความเห็นสั่งฟ้องคดีส่งสำนวนให้อัยการแล้ว ทั้งนี้ที่ดินในกรรมสิทธิ์ของน.ส.อลิสา ปัจจุบันใช้ก่อสร้างอาคารบุญรักษา ใช้เป็นโรงพยาบาลรักษาพระสงฆ์วัด
พระธรรมกาย ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรม ปปง.มีคำสั่งอายัดที่ดินทั้ง 8 แปลงไว้แล้ว
          
6.คดีพิเศษที่ 99/2558 ดีเอสไอฟ้องนายศุภชัย นายสัมพันธ์ เสริมชีพ ทนายความวัดพระรรมกาย กับพวกรวม 9 ราย ซึ่งคดีนี้เป็นผลมาจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบการสั่งจ่ายเช็ค 9 ฉบับ จำนวน 321.4 ล้านบาท ไปเทคโอเวอร์บริษัทเอ็มโฮมเอสพีวี 2 จำกัด เพื่อถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของบริษัทเอ็มโฮมเอสพีวี 2 โดยคดีนี้มีความเห็นสั่งฟ้องส่งสำนวนให้อัยการแล้ว จากนั้นคดีนี้ยังแตกลูกย่อยไปถึงเสี่ยอนันต์ ในคดีลำดับที่ 13
          
7.คดีพิเศษที่ 24/2559 นายธรรมนูญ อัตโชติ กล่าวหานายศุภชัยและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง 19 ราย ที่รับเช็คจากนายศุภชัยโดยไม่มีมูลหนี้ต่อกัน วงเงินความเสียหาย 2,296 ล้านบาท ได้แก่ บริษัทรัฐประชา-วัฒชานนท์ อิสรเสนารักษ์, บริษัทเอสดับบลิวโฮลดิ้ง กรุ๊ป, บริษัทยูเนี่ยน-อินเตอร์ประกันภัย (มหาชน), บริษัทอนันตศิลาบารมี, บริษัทพนมไพร-โพนทรายธุรกิจ, บริษัท สหประกันชีวิต, บริษัทแสนสิริสุข, บริษัทเอ็มโฮมเอสพีวี, บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย, บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์, บริษัทบริหาร-สินทรัพย์ทวี, บริษัทบริหารสินทรัพย์เพทาย, กองทุนเพื่อความมั่นคง, โรงเรียนชุมชนบ้านคลองเคียน (เงินอุดหนุนโรงเรียน), บริษัทบริหารสินทรัพย์-สุขุมวิท, การเคหะแห่งชาติ, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, บริษัท สรีธร และบริษัทอินเทรนด์ พร็อพเพอร์ตี้ โดยคดีฟอกเงินในกลุ่มนี้ยังอยู่ระหว่างสอบสวน คาดว่าจะใช้เวลาอีก 1 ปี เนื่องจากมีธุรกรรมการเงินต้องตรวจสอบหลายรายการ

8.คดีพิเศษที่ 25/2559 นายธรรมนูญ อัตโชติ กล่าวหานายศุภชัย ข้อหาฟอกเงิน โดยเป็นผลมาจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่าเงินที่นายศุภชัยยักยอกมาจากสหกรณ์คลองจั่นฯไปสิ้นสุดอยู่กับกลุ่มบุคคลที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน จำนวน 93 ราย จากเช็ค 211 ฉบับ วงเงินเสียหายกว่า 1,754 ล้านบาท โดยคดีในกลุ่มนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน  ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561

9.คดีพิเศษที่ 26/2559 นายธรรมนูญ อัตโชติ กล่าวหานายศุภชัยในข้อหาฟอกเงิน โดยกลุ่มผู้ต้องหาและผู้ที่อยู่ในข่ายผู้ต้องหา 8 ราย ที่เกี่ยวข้องกับการรับเช็ค 244 ฉบับ มีพฤติกรรมเป็น ผู้โอน ผู้รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เพื่อซุกซ่อน ปกปิด แหล่งที่มาของทรัพย์สิน จำนวน 2,993 ล้านบาท ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างสอบสวน
          
10.คดีพิเศษที่ 27/2559 นายธรรมนูญ อัตโชติ กล่าวหานายศุภชัย พระธัมมชโย กับพวกรวม 5 คน ข้อหาร่วมกันฟอกเงิน สมคบฟอกเงิน และรับของโจร ตามที่ปรากฏในเส้นทางการเงินว่าพระธัมมชโยรับเช็คบริจาคจากนายศุภชัยตั้งแต่ปี 2552-2556 จำนวนกว่า 1,458 ล้านบาท โดยคดีนี้ ปปง.ดำเนินการอายัดบัญชีเงินฝากของพระธัมมชโยแล้ว ในส่วนของอัยการสรุปความเห็นสั่งฟ้องและออกหมายจับพระธัมมชโย ซึ่งข้อมูลการข่าวยังเชื่อว่าหลบหนีโดยพักพิงอยู่ตามบ้านของกลุ่มศิษย์ใกล้ชิด ในละแวกไม่ไกล
จากวัดพระธรรมกาย ส่วน น.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ หลบหนีไปต่างประเทศ
          
11.คดีพิเศษที่ 38/2559 นายธรรมนูญ อัตโชติ กล่าวหานายจิรเดช  วรเพียรกุล อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ เป็นผู้ต้องหาในคดีฟอกเงิน วงเงินเสียหาย 1,759 ล้านบาท โดยคดีนี้คาดว่าจะสรุปสำนวนสั่งฟ้องได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้
          
12.คดีพิเศษที่ 42/2559 นายธรรมนูญ อัตโชติ กล่าวหานายศุภชัย  นายณัฐพร โตประยูร กับพวกรวม 14 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มนายหน้าขายที่ดินในข้อหา
          
ฟอกเงิน โดยในกลุ่มนี้มีอดีตข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษร่วมอยู่ด้วย 2 ราย จากการนำที่ดินที่นายศุภชัยนำเงินจากการยักยอกสหกรณ์ไปซื้อไว้ ภายหลังการขายที่ดินนำเงินส่งคืนสหกรณ์เพียง 100 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเงินไปสิ้นสุดอยู่กับกลุ่มนายหน้า 12 ราย บริษัทเอสดับบลิว โฮลดิ้งของอดีตพระธรรมกาย และบริษัท ยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัย ตามเส้นทางการจ่ายเช็ค 47 ฉบับ วงเงินความ
เสียหาย 1,634 ล้านบาท
          
13.คดีพิเศษที่ 10/2560 นายธรรมนูญ อัตโชติ กล่าวหานาย ศุภชัย และนายอนันต์ อัศวโภคิน
          
ร่วมกันฟอกเงิน โดยคดีนี้พนักงานสอบสวนมีมติให้ออกหมายเรียกนายอนันต์เข้ารับทราบข้อหาในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ โดยคดีนี้มีธุรกรรมการเงินแตกย่อยมาจากคดีพิเศษที่ 99/2558 โดยนายอนันต์ได้ซื้อที่ดินตามโฉนดเลขที่ 31344 ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี แต่เป็นการซื้อในราคาถูกกว่าราคาประเมิน และไม่ได้นำที่ดินไปถวายวัดพระธรรมกายตามที่แจ้งไว้ แต่กลับนำที่ดินไปขายให้นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ในราคา 492 ล้านบาท จากนั้นแบ่งเงินส่วนหนึ่งบริจาคให้วัดพระธรรมกายและเก็บไว้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ดีเอสไอยังตรวจสอบพบหนังสือที่นาย
ศุภชัยเจ้าของที่ดิน แสดงเจตนาบริจาคที่ดินแปลงดังกล่าวให้พระธัมมชโย
          
14.คดีพิเศษที่ 21/2560 นายธรรมนูญ อัตโชติ กล่าวหานายศุภชัย และพระเครือข่ายวัดพระธรรมกาย กรณีนำเช็คสหกรณ์มอบให้พระเครือข่ายวัดพระธรรมกาย วงเงิน 200 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อที่ดินในจังหวัดต่างๆ ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการสอบสวน
          
15.คดีพิเศษที่ 24/2560 นายธรรมนูญ อัตโชติ กล่าวหานายศุภชัยและมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง ข้อหาสมคบฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร กรณีรับเช็คบริจาคจากนายศุภชัยอย่างน้อย 3 ฉบับ เป็น เงิน 125 ล้านบาท แล้วนำไปมอบให้พระธัมมชโยเพื่อนำเข้าบัญชีของมูลนิธิ เป็นเหตุให้สหกรณ์ และสมาชิกสหกรณ์เสียหาย คดีอยู่ระหว่างการสอบสวน
          
นอกจากนี้ยังมีคดีระหว่างสืบสวนที่แตกย่อยออกมาอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ 1.คดีที่ นายอริยะ เอี่ยมดิลกวงศ์ กล่าวหากรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ฐานละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้นายศุภชัย กับพวกสามารถยักยอกทรัพย์ของสหกรณ์ไปได้กว่า 1.3 หมื่นล้านบาท โดยคดีนี้ดีเอสไอส่งสำนวนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนความผิดทางอาญาตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 2.คดีนำเงินของวัดพระธรรมกายให้พระสงฆ์นำไปใช้เล่นหุ้น และ3.คดีให้ที่พักพิงแก่พระธัมมชโย ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา